lcc

 

พลังงานทดแทน

วิกฤตพลังงาน เป็นหนึ่งในปัญหาด้านความมั่นคงที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศไทยที่ยังพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้ารองรับความต้องการใช้งานภายในประเทศ ตามแผนนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล และ ยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนของกระทรวงกลาโหม ได้กำหนดทิศทางและการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านพลังงานทดแทน เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในด้านพลังงานและประเทศชาติอย่างแท้จริง กองทัพอากาศซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเสถียรภาพทางพลังงาน จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริ นโยบายรัฐบาล และยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนของกระทรวงกลาโหม มาเป็นแนวทางจัดทำแผนยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนกองทัพอากาศ เพื่อกำหนดทิศทาง กรอบการดำเนินการด้านพลังงานทดแทน และได้มีการปรับปรุงยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนฉบับดังกล่าวในปี พ.ศ. 2559 เพื่อให้สอดคล้องกับริบทในปัจจุบัน ภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างเสริมการผลิตและใช้พลังงานทดแทนของกองทัพอากาศ รวมทั้งการอนุรักษ์พลังงานให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า และสร้างองค์ความรู้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน” มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน ให้เป็นร้อยละ 5 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของกองทัพอากาศ ภายในปี พ.ศ. 2568 ประกอบด้วย 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ โดยเริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน ครอบคลุมพื้นที่ของกองทัพอากาศตามสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสม จากการดำเนินงานด้านพลังงานทดแทนที่ผ่านมา ทำให้เกิดองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทน และสามารถผลิตไฟฟ้าด้วยเซลส์แสงอาทิตย์ เพื่อทดแทนพลังงานไฟฟ้า สำหรับใช้ในการปฏิบัติภารกิจ และเป็นพลังงานสำรอง ซึ่งปัจจุบันมีการติดตั้ง โดยใช้งบประมาณของกองทัพอากาศและเงินกองทุนส่งเสริมเพื่ออนุรักษ์พลังงานของกระทรวงพลังงาน ทำให้ สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น จนในปี2560 กองทัพอากาศสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ 4.5 ล้านยูนิค ภายใน 1ปี ซึ่งเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 18 ล้านบาท ตัวอย่างเช่น - การติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ณ สถานีรายงาน ภูหมันขาว เขาเขียว ดอยอินทนนท์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และ โรงพยาบาลจันทรุเบกษา - การติดตั้งระบบสูบน้ำบาดาลเซลล์แสงอาทิตย์ ให้ตามกองบิน หรือช่วยเหลือประชาชน เช่น โครงการเทพประทานธารา เป็นต้น - การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าในหน่วยงานด้านยุทธการที่มีความสำคัญต่อความมั่นคง เช่น เช่น กองบิน ฝูงบินสนาม สถานีเครื่องช่วยเดินอากาศ สถานีรายงานและสถานีถ่ายทอดโทรคมนาคม เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ ที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง อย่างเช่นสถานีถ่ายทอดโทรคมนาคมภูกระดึง การใช้พลังงานแสงอาทิตย์สามารถทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟ ที่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งต้องใช้อากาศยานขนส่งจากภาคพื้นขึ้นมาที่สถานี นอกจากนี้ในด้านการอนุรักษ์พลังงาน กองทัพอากาศยังได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อาทิเช่น ปี 2558 โครงการติดตั้งชุดโคมไฟถนนแอลอีดี และโครงการติดตั้งชุดโคมไฟถนนแอลอีดีพลังงานแสงอาทิตย์ ปี 2559 โครงการติดตั้งชุดโคมไฟและหลอดแอลอีดีในหน่วยงานของกองทัพอากาศ และในปี 2560 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในหน่วยงานกองทัพอากาศ ณ กองบิน 2 กองบิน 4 กองบิน 41 และตึกบัญชาการกองทัพอากาศ จากแผนยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนกองทัพอากาศ ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2559 นโยบายผู้บัญชาการทหารอากาศกำหนดแนวทางปฏิบัติ ในการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน รวมทั้งการอนุรักษ์พลังงาน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้พลังงานแต่ละประเภท และการสร้างองค์ความรู้ด้านพลังงาน ตลอดจนการรักษาสภาวะแวดล้อม และดำรงรักษามาตรการประหยัดพลังงานไว้อย่างต่อเนื่อง กองทัพอากาศกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาระบบพลังงาน โดยเริ่มจากการพัฒนาในหน่วยขึ้นตรงระดับกองบิน ให้เป็น SMART Wing ด้วยการกำหนดให้กองบิน 2 จังหวัดลพบุรี เป็นกองบินต้นแบบ เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมอันประกอบด้วย ระบบไฟฟ้าทั้งจากไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และจากระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลส์แสงอาทิตย์ขนาด 1 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ กองบิน 2 ยังมีโครงการต้นแบบการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพจากระบบหมักย่อยขยะอินทรีย์แบบแห้ง ซึ่งเป็นโครงการแห่งแรกในประเทศไทย ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 500 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง จากการใช้ขยะครัวเรือน และซากพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งสิ่งปฏิกูล นำมาหมักให้เกิดก๊าซแล้วนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อจ่ายให้หน่วยงานในกองบินที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงสูง ซึ่งนอกจากโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวแล้ว กองบิน2 ยังคงต้องมีการพัฒนาเพิ่มเดิม ในส่วนระบบกักเก็บพลังงาน ระบบมิเตอร์อัจฉริยะ ระบบเครือข่าย และระบบควบคุมสั่งการการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกกองทัพอากาศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็น SMART Wing ที่สมบูรณ์ และทำให้กองบิน 2 เป็นต้นแบบของ SMART Wing ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาไปสู่การเป็นกองบินที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (Network Centric Air Base) ที่สามารถตอบสนองต่อการปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยสูง อย่างยั่งยืนอีกทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกองทัพอากาศจะดำเนินการให้ทุกกองบินเป็น SMART Wing ต่อไป จากความมุ่งมั่น ตั้งใจ และการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนของกองทัพอากาศในการสร้างเสริมการผลิตและใช้พลังงานทดแทนของกองทัพอากาศ รวมทั้งการอนุรักษ์พลังงาน ให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและสร้างองค์ความรู้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพื่อให้กองทัพอากาศ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง มีความมั่นคงด้านพลังงาน สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล นโยบายพลังงานทดแทนกระทรวงกลาโหม อันเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้กับประเทศไทยตลอดไป